กู้ยืมเงินผ่านตู้ ATM ไม่มีหลักฐาน ฟ้องได้หรือไม่?

#ทนายเล่าเรื่อง
กู้ยืมเงินผ่านตู้ ATM ไม่มีหลักฐาน
ฟ้องได้หรือไม่?

การกู้ยืมเงินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

            #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้ผมขอหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินผ่านตู้กดเงินสดหรือ ATM ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาจะวินิจฉัยอย่างไรบ้าง มาดูกันครับ
             นายหนึ่งฟ้องขอให้บังคับนายสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ในศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยนายหนึ่งอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้นายสองชำระเงินแก่นายหนึ่ง….

              นายสอง ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเบิกเงินสดจากเครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัติของนายสองเป็นการกู้ยืมที่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมอันจะทำให้นายหนึ่งไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายสองนำบัตรกดเงินสดดังกล่าวไปใช้เบิกถอนเงินสดรวม 8 ครั้ง ซึ่งการถอนเงินสดดังกล่าวนายสองจะต้องทำตามขั้นตอนที่ระบุในคู่มือการใช้บริการ ต้องใส่รหัสผ่าน 4 หลัก เลือกรายการถอนเงินจากบัญชีสินเชื่อเงินสด เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระ 6 ถึง 36 เดือน ระบุจำนวนเงินที่ต้องการ (5,000 ถึง 20,000 บาท ต่อรายการ) และรับเงินสดพร้อมสลิปไว้เป็นหลักฐานซึ่งในสลิปจะปรากฏอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในแต่ละครั้งอยู่ด้วย แสดงว่า นายสองสมัครใจกู้ยืมเงินจากนายหนึ่งตามเงื่อนไขที่นายหนึ่งกำหนด กรณีดังกล่าวถือเป็นธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4 มีผลใช้บังคับตามมาตรา 7 ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 เมื่อนายหนึ่งมีหลักฐานมาแสดงประกอบใบคู่มือการใช้บริการ อันเป็นหลักฐานที่รับฟังได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 การที่นายสองนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและส่งรหัสส่วนตัวเสมือนลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการถอนเงินตามที่นายสองประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากนายหนึ่ง ประกอบทั้งนายสองมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่นายสองค้างชำระแก่นายหนึ่ง รวม 11 รายการ นายหนึ่งมีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่านายสองรับว่าเป็นหนี้นายหนึ่งขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยนายสองลงลายมือชื่อท้ายเอกสารมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้อีกโสดหนึ่ง นายหนึ่งจึงมีอำนาจฟ้อง

             ในเรื่องของดอกเบี้ย นายหนึ่งมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินค้างชำระจำนวน 244,337.76 บาท ได้ในอัตราร้อยละ 13.82 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไป จนกว่านายสองจะชำระหนี้แก่นายหนึ่งเสร็จสิ้น ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของนายสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ 

         จะเห็นได้ว่า การกู้ยืมเงินโดยกดเงินสดจากตู้อัตโนมัติ แม้จะไม่มีหลักฐานกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ แต่การกู้ยืมเงินดังกล่าวได้ทำตามคู่มือการใช้บริการ และมีการถอนเงินสด พร้อมรับเงินสดและสลิปที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ด้วย อันเป็นหลักฐานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 จะอ้างว่าไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่มีการกู้ยืมเงินเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นฟังไม่ขึ้น

          (อ้างอิง ฎ.8089/2556)

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเท่านั้นหรือไม่

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเ

อ่านเพิ่มเติม »