เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

#ทนายเล่าเรื่อง
กู้ยืมเงินกัน ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา
ผู้กู้เรียกดอกเบี้ยที่เกินคืนได้หรือไม่!?

เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

            #ทนายเล่าเรื่อง วันนี้เรามาดูในคดีเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กันบ้างดีกว่าครับ เป็นคดีที่มีการกู้ยืมกันโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดครับ ที่แน่ๆ คือถ้าเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดก็แน่นอนว่ามันไม่ชอบด้วยกฎหมายใช่ไหมครับ แล้วถ้าเราจ่ายไปแล้วล่ะ จะเรียกคืนได้หรือเปล่า หรือจะทำอะไรได้บ้าง เราไปดูกับคดีนี้กันเลยครับ

              คดีนี้ นายแบงค์ไปกู้ยืมเงินนายเจมส์เป็นเงิน 600,000 บาท โดยนายแบงค์ยอมให้นายเจมส์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนและทำเป็นสัญญากู้กันไว้ ซึ่งนายแบงค์ก็จ่ายมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นผ่านมาประมาณ 1 ปี นายแบงค์จ่ายหนี้ไม่ไหว จึงมาตกลงกันนายเจมส์ นายเจมส์จึงให้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ โดยนายแบงค์จะคืนให้นายเจมส์ภายใน 4 เดือน สุดท้ายพอถึงกำหนด 4 เดือนที่ว่า นายแบงค์ก็จ่ายไม่ไหว จึงบอกนายเจมส์ว่าตนจะไม่จ่ายแล้ว ถ้าอยากได้ก็ให้ไปฟ้องเอา สุดท้ายนายเจมส์จึงฟ้องนายแบงค์เป็นคดีนี้นั่นเอง

              จากนั้นนายแบงค์ก็ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีเข้ามาว่า นายเจมส์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงขอเรียกดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ตนได้จ่ายไปคืน ประเด็นคือ ดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วเราจ่ายไป จะเรียกคืนได้หรือไม่ ไปดูคำตอบจากคดีนี้กันเลยครับ

               ศาลมองว่า เมื่อนายเจมส์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน โดยนายแบงค์ก็ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนมาตลอด ดอกเบี้ยที่นายแบงค์ชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ

                 การที่นายแบงค์ยอมจ่ายดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแและพาณิชย์ มาตรา 411 นายแบงค์จึงไม่อาจเรียกร้องให้นายเจมส์คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไปได้

               แต่เมื่อดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย นายเจมส์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวเช่นกัน จึงต้องนำดอกเบี้ยที่ชำระให้แก่นายเจมส์ไปหักต้นเงินจำนวน 600,000 บาท
               คดีนี้ สรุปง่าย ๆ เลยนะครับ ถ้าเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แล้วเรายังจ่ายดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนนั้น ตามกฎหมายเราจะขอคืนไม่ได้เลยครับ แต่ผู้ให้กู้ก็ไม่มีสิทธิได้เช่นกัน ศาลเลยให้เอาดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนกฎหมายไปหักกับเงินต้นเพื่อความเป็นธรรมนั่นเองครับ
              อ้างอิง : ฎ.5056/2562

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเท่านั้นหรือไม่

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเ

อ่านเพิ่มเติม »