การรับมรดกในฐานะ
ทายาทโดยธรรม

การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

            มรดก คือทรัพย์สินทั้งหมด รวมถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของผู้ตาย โดยบุคคลที่จะรับมรดกได้นั้นจะต้องเป็นทายาทตามกฎหมายซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี คือ “ทายาทโดยธรรม” กับ “ผู้รับพินัยกรรม” ซึ่งการรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมนี้แทบจะไม่มีประเด็นในทางกฎหมายที่จะต้องพิจารณาเลยเพราะหากผู้ตายมีการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินอะไรให้ใครไว้แล้ว ก็ให้เป็นไปตามเจตนาในพินัยกรรมนั้น แต่กรณีที่จะมีปัญหาก็คือกรณีที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ การแบ่งมรดกก็จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย 

ลำดับทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดก

            โดยกฎหมายก็ได้มีการกำหนดทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกเอาไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ไว้ 6 ลำดับดังนี้

1 ผู้สืบสันดาน – มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ดังนี้

   1.1 บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนี้จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ

   1.2 บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรอง โดยการรับรองนี้เป็นการรับรองโดยพฤตินัย เช่น ให้ใช้นามสกุล  หรือให้การอุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น

   1.3 บุตรบุญธรรม

2 บิดามารดา (แต่บิดามารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม แต่สามารถรับในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมได้)

3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

4 พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันหรือมารดาเดียวกัน

5 ปู่ ย่า ตา ยาย

6 ลุง ป้า น้า อา

            การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมนี้ก็จะใช้ระบบลำดับก่อนตัดลำดับหลัง คือหากทายาทลำดับก่อนยังอยู่ทายาทที่อยู่ลำดับถัดลงไปก็จะไม่มีสิทธิรับมรดก หรือก็คือหลัก “ญาติสนิทตัดญาติห่าง” หากทายาทในลำดับที่ 1 และ 2 หรือผู้สืบสันดานกับบิดามารดายังอยู่ ญาติลำดับถัดลงไปก็จะไม่มีสิทธิรับมรดก และที่ยกตัวอย่างรวมทายาทลำดับ 1 กับ 2 ไว้ด้วยกันก็เพราะว่าทายาทลำดับ 1 กับ 2 จะไม่ตัดกันเอง กล่าวคือทายาท 2 ลำดับนี้จะไม่ใช้หลักทายาทลำดับก่อนตัดลำดับหลัง แม้ทายาทลำดับ 1 ยังอยู่ ทายาทลำดับ 2 ก็มีสิทธิที่จะได้รับมรดกด้วยเช่นกัน โดยหากยังมีทายาททั้งลำดับ 1 และ 2 อยู่ ทั้งสองลำดับก็จะมีสิทธิรับมรดกในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน

บทความกฎหมายล่าสุด

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเท่านั้นหรือไม่

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเ

อ่านเพิ่มเติม »