ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร
ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร ถ้าศาลพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหนี้ไม่
#เปิดข้อสังเกต
ปัญหาการครอบครองปรปักษ์
ควรแก้กฎหมายหรือไม่
หนึ่งในคดีที่ดินที่ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักก็คือ “คดีครอบครองปรปักษ์” ซึ่งเป็นคดีที่บุคคลหนึ่งเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของผู้อื่นโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของที่ดินโดยครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี หากครอบครองได้ตามนี้ ผู้นั้นก็จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ต่อศาล หรืออาจยกการครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้กรณีที่เจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่ได้
การครอบครองปรปักษ์เลยทำให้การจะได้ที่ดินมาเป็นของตัวเองสักผืนดูจะเป็นเรื่องง่ายไปเลยใช่ไหมครับ แต่ผมไปเจอบทความชิ้นหนึ่งมาซึ่งเป็นบทความที่ดีมาก ซึ่งได้มีการพูดถึงเรื่องปัญหาการครอบครองปรปักษ์ ที่อาจจะเป็นผลดีต่อผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แต่อาจส่งผมเสียกับหลาย ๆ คน ผมเลยขออนุญาตหยิบยกบทความดังกล่าวมาเล่าให้ทุกคนฟังครับ ส่วนจะมีปัญหาการครอบครองปรปักษ์จะมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยครับ
ผู้เขียนบทความนี้ได้ยกปัญหาการครอบครองปรปักษ์ขึ้นมา 3 ประเด็น ดังนี้ครับ
1.มาตรา 1382 ไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนว่าการครอบครองต้องมีการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริงหรือไม่
ผู้เขียนยกปัญหาการครอบครองปรปักษ์นี้โดยตั้งฐานจากตัวบทกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่วางหลักว่า บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้นั้นได้กรรมสิทธิ์ ผู้เขียนเห็นว่า มาตราดังกล่าวไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าการครอบครองจะต้องมีการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ล้อมรั้วรอบพื้นที่แล้วก็ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ตามนัยของมาตรา 1382 แล้ว
ความเห็นส่วนตัวของผม ผมมองว่า บทบัญญัติในมาตรา 1382 ไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนก็จริงในเรื่องการครอบครอง แต่หากใครที่ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ต่อศาลนั้นก็จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า ผู้นั้นได้ครอบครองใช้ประโยชน์อย่างไร และได้ครอบครองครบองค์ประกอบของการครอบครองปรปักษ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เพราะหากไม่นำสืบให้ศาลเห็นอย่างชัดเจนว่าได้มีการครอบครองใช้ประโยชน์จริง ก็มีโอกาสที่จะถูกศาลยกคำร้องได้
แต่ปัญหาการครอบครองปรปักษ์ที่ผู้เขียนยกขึ้นนั้นก็เป็นประเด็นปัญหาที่ดีครับ เพราะการไม่กำหนดให้ชัดเจนก็อาจมีคนหัวหมอเห็นช่องว่างของกฎหมายเข้าไปล้อมรั้วในที่ดินของบุคคลอื่นโดยที่ตนไม่ได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์จริง ๆ ก็ได้ ซึ่งจะทำให้ขัดต่อเจตนาของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ได้ใช้ที่ดินนั้น ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้าง หากทิ้งไว้ ไม่ได้ใช้ กฎหมายก็จะยกกรรมสิทธิ์ให้กับบุคคลที่ครอบครองใช้ประโยชน์ที่แท้จริงนั่นเอง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาการครอบครองปรปักษ์ในทางนิติบัญญัติก็ว่าได้ครับ
2.ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินหรือทายาทไม่ได้เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล
ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ ศาลจะมีการให้ส่งหมายพร้อมกับสำเนาคำร้องไปยังผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินหรือทายาทเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าของที่แท้จริงเข้ามาใช้สิทธิคัดค้านได้ โดยผู้เขียนยกปัญหาว่า บางทีเจ้าของที่ดินหรือทายาทได้ย้ายออกไปจากภูมิลำเนาเดิม แค่ยังไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงทะเบียน แบบนี้หมายและคำร้องก็จะถูกส่งไปที่ภูมิลำเนาเดิมที่ไม่มีใครอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เจ้าของหรือทายาทไม่ได้รับหมายและคำร้องนั้น ทำให้ไม่มีการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินอย่างแท้จริง หรือไม่มีการคัดค้านจากเจ้าของที่ดินเดิมนั่นเอง
ปัญหาการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าว สำหรับผมแล้ว ผมก็มองว่าเป็นปัญหาจริง ๆ นั่นแหละครับ ทำให้คนที่มีชื่อเป็นเจ้าของที่แท้จริงไม่สามารถใช้หรือรักษาสิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผู้เขียนเสนอว่า ควรมีการกำหนดให้เจ้าของที่ดินหรือทายาทเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล เช่น หากเจ้าของอยู่ต่างประเทศก็ควรส่งหมายไปยังต่างประเทศที่ผู้นั้นอยู่ด้วย
แต่ผมตั้งข้อสังเกตด้วยความเคารพต่อผู้เขียนแบบนี้ครับ ในกระบวนการยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ ศาลมักจะให้มีการส่งหมายและสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าของที่ดินตามที่อยู่ที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์หรือทะเบียนบ้านซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลของสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภออยู่แล้ว หากเจ้าของมีการย้ายที่อยู่ แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านตามไปและยังต้องการให้เขาเข้าสู่กระบวนการของศาลได้อย่างแท้จริง ก็คงจะต้องให้มีการสืบหาให้แน่ชัดว่า เจ้าของที่ดินนั้นย้ายไปอยู่ที่ไหนและเรียกเข้ามาในคดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ และนี่อาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ที่ร้องครอบครองปรปักษ์ ทั้งเป็นการยืดเวลาของกระบวนการทางศาลออกไปอีกด้วยหรือเปล่า หรือหากต้องมีการส่งหมายไปต่างประเทศซึ่งแน่นอนว่ากินเวลานานมาก ๆ และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง คำถามที่ตามมาคือ ค่าใช้จ่ายตรงนี้รัฐหรือศาลจะเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ หรือใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
3.ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ ให้แก่รัฐ
การได้ที่ดินมาโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น ตามกฎหมายภาษีไม่ถือว่าเป็นการ “ขาย” ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร อันทำให้ผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ ให้แก่รัฐ ทำให้รัฐขาดประโยชน์ที่พึงได้รับและอาจถูกมองว่า รัฐส่งเสริมให้มีการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของผู้อื่น และผู้ที่เสียภาษีที่ดินในที่ดินที่ถูกครอบครองปรปักษ์ก็จะเป็นเจ้าของเดิม ซึ่งไม่เป็นธรรม โดยผู้เขียนเสนอว่าควรแก้ไขให้คำว่า “ขาย” ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ให้หมายความรวมถึงการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ด้วย
สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวของผมนั้น การที่บุคคลใดได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ ให้แก่รัฐเลย และตัวผู้เป็นเจ้าของจริง ๆ กลับต้องเป็นผู้เสียภาษีอันเกี่ยวกับที่ดินนั้นแทนอีก แน่นอนว่าย่อมไม่เป็นธรรมครับ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับผู้เขียนว่า ควรมีการแก้ไขให้ผู้ที่ครอบครองปรปักษ์ที่กลายมาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นเป็นผู้ที่จะต้องจ่ายภาษีที่เกี่ยวข้อง แต่ผมเห็นต่างในเรื่องการแก้ปัญหานี้นิดเดียวครับ คือการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เป็นการได้กรรมสิทธิ์มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรค 2 ซึ่งการ “ขาย” เป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง และผมมองว่าการได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์อาจจะไปตีให้เข้าเป็นลักษณะของการซื้อขายนั้นอาจจะดูไม่เหมาะเสียทีเดียว ผมเลยเห็นว่าอาจจะควรแก้กฎหมายโดยแยกเรื่องการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ออกมาเป็นอีกหนึ่งอนุมาตราแยกต่างหากเลยจะดีกว่าหรือเปล่า
แต่ประเด็นที่ว่ารัฐส่งเสริมให้มีการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีการกำหนดให้ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ต้องเสียภาษีใด ๆ ให้แก่รัฐนั้น ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การที่ไปกำหนดในกฎหมายให้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความหมายของคำว่า “ขาย” ให้รวมถึงการได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ด้วย หรือจะไปบัญญัติแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งอนุมาตราตามที่ผมได้แสดงความคิดเห็นไป มันจะกลายเป็นการที่รัฐแสดงออกเป็นการยอมรับโดยชัดเจนว่ารัฐส่งเสริมให้มีการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ซึ่งก็คงต้องพิจารณากันต่อไปครับ
ก็จบกันไปแล้วนะครับ เรียกได้ว่าเป็นบทความที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและผู้คนที่อยู่ในวงการกฎหมายทีเดียวเพราะเป็นการยกปัญหาการครอบครองปรปักษ์ที่อาจจะเป็นปัญหาที่ใหญ่สำหรับใครหลาย ๆ คนขึ้นมาพูด โดยผมก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นและตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมไปบ้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเจตนาที่ดีเพื่อประโยชน์ในการคิดต่อยอดและเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการอย่างแท้จริงครับ หากทุกคนมีความคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้ ก็สามารถพิมพ์คุยกันที่คอมเมนต์ด้านล่างได้เลย
อ้างอิง : บทความจากการศึกษาอิสระ เรื่อง ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการร้องครอบครองปรปักษ์ โดย นายบดินทร์ ศรีพิทักษ์ นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
อ่านบทความเพิ่มเติม คดีที่ดิน คลิก!
ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีที่ดินหรือ จ้างทนายคดีที่ดิน คลิก!
ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร ถ้าศาลพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหนี้ไม่
บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเ
รวมวิธีการป้องกัน ที่ดินถูกครอบครองปรปักษ์ เป็นเจ้าของที่ดินอยู่ดีๆ ผ่านไป 10 ปี
แบ่งมรดกไม่ลงตัว ทำอย่างไร #ทายาทต้องรู้แบ่งมรดกไม่ลงตัว ต้องทำอย่างไร แบ่งมรดกไ