ฝากเลี้ยงแมว แต่ไม่จ่ายค่าอาหาร ยึดแมวได้ไหม

ฝากเลี้ยงแมว แต่ไม่จ่ายค่าอาหาร ยึดแมวได้หรือไม่?

หัวข้อบทความวันนี้มาจากกระทู้หนึ่งในพันทิพ เมื่ออ่านพาดหัวดูแล้วก็เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่แต่ก็ชวนปวดหัวมิใช่เล่น เมื่อเพื่อนเอาแมวมาฝากให้เราเลี้ยงเกือบสองปี หลอกให้รักให้หลงงงงวย จนทาสอย่างเราโดนตกไปเป็นที่เรียบร้อย แต่เพื่อนตัวดีดันไม่ยอมจ่ายค่าอาหาร ค่าดูแลรักษาแมว…แล้วทาสเบอร์ 2 อย่างเราจะสามารถยึดแมวมาเป็นของตัวเองได้หรือไม่

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “แมว” นั้นในทางกฎหมายเราถือว่าเป็น “ทรัพย์” ประเภทหนึ่ง (แม้ผู้อ่านทาสแมวหลาย ๆ ท่านจะแย้งว่าแมวเป็นเจ้านายนะทาส ไม่ใช่ทรัพย์!!) ดังนั้น การฝากแมวให้คนอื่นดูแลรักษานั้นจึงถือเป็น “สัญญาฝากทรัพย์” ประเภทหนึ่งนั่นเอง

สัญญาฝากทรัพย์คืออะไร

คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้ฝาก” ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับฝาก” และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้

สัญญาฝากทรัพย์ต้องมีค่าตอบแทนหรือไม่

กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการฝากทรัพย์จะต้องมีค่าตอบแทน ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้ฝากและผู้รับฝากว่าจะให้การฝากทรัพย์มีค่าตอบแทนหรือไม่ ซึ่งผลของสัญญาฝากทรัพย์ที่มีบำเหน็จ(ค่าตอบแทน) ก็จะก่อให้เกิดหน้าที่ของผู้รับฝากที่จะต้องดูแลทรัพย์โดยใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

หน้าที่ของผู้รับฝาก

ในสัญญาฝากทรัพย์นั้น ผู้รับฝากมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินที่รับฝากไว้ ไม่นำไปใช้สอยส่วนตัว (แต่การเล่นกับแมวไม่ถือเป็นการใช้สอยส่วนตัวนะนุดดด..) และมีหน้าที่ที่จะต้องคืนทรัพย์ให้แก่ผู้ฝาก

ค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์สินเป็นของใคร

กฎหมายกำหนดให้ผู้ฝากเป็นคนมีหน้าที่จัดการดูแลค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์สินที่เกิดขึ้น เว้นแต่ผู้ฝากและผู้รับฝากจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น

ตกลงแล้วคนรับฝากแมวทำอย่างไรได้บ้าง

จะเห็นได้ว่าการที่เพื่อนเอาแมวมาฝากให้เราเลี้ยงดูนั้น เมื่อเป็นสัญญาฝากทรัพย์ประเภทหนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ฝากนั้นจะตกอยู่ที่เพื่อนซึ่งเป็นผู้ฝากทรัพย์นั่นเอง เราในฐานะผู้รับฝากและได้จ่ายค่าอาหารเพื่อดูแลแมวตามปรกติย่อมสามารถเรียกเอาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ หากเพื่อนไม่ยอมจ่ายค่าใช้จ่ายตรงนี้ เราสามารถยึดหน่วง หรือ ยังไม่คืนแมว ได้ตามกฎหมาย (ป.พ.พ. มาตรา 670) จนกว่าผู้ฝากจะได้ชำระค่าใช้จ่ายจนครบ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ฝากชำระค่าใช้จ่ายจนครบแล้ว สิทธิยึดหน่วงดังกล่าวก็จะสิ้นสุดลงไป ผู้รับฝากก็มีหน้าที่ต้องคืนแมวให้แก่ผู้ฝากโดยไม่อาจอิดเอื้อนได้อีกต่อไป

TIP(S): หากเราแจ้งผู้ฝากแมวไปแล้วว่าเราต้องการจะเอาแมวมาเลี้ยงเป็นของตนเอง ไม่ได้เพียงแค่รับฝากอีกต่อไป หากผู้ฝากแมวทราบแล้วมิได้คัดค้านเป็นระยะเวลา 5 ปี เช่นนี้เราสามารถอ้างการครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ได้รับกรรมสิทธิ์ในแมวได้ด้วยนะนุดดดด!!

บทความกฎหมายล่าสุด

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเท่านั้นหรือไม่

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเ

อ่านเพิ่มเติม »