เปิดกฎหมายมรดก พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

เปิดกฎหมายมรดก พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คืออะไร? ดีกว่าแบบอื่นหรือไม่

เปิดกฎหมายมรดก พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

                    เมื่อเราเสียชีวิต เราจะกลายเป็นเจ้ามรดก ทรัพย์สินทั้งหลายที่มีจะกลายเป็นทรัพย์มรดก และจะแบ่งให้ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายต่อไป แต่อย่างที่หลายๆ คนทราบว่าเราสามารถเลือกได้ว่าทรัพย์สินต่างๆ ที่มีนั้นจะยกให้กับใครด้วยการทำพินัยกรรมขึ้นมา ซึ่งพินัยกรรมก็มีแบบที่ขึ้นทำได้ง่ายๆ อยู่ครับ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ “พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ” กันครับ

พินัยกรรม คืออะไร?

                  ก่อนจะไปรู้จักกับพินัยกรรมแบเขียนเองทั้งฉบับ เราจะต้องรู้ก่อนว่าพินัยกรรม คืออะไร? พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนาเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือการต่างๆ โดยมุ่งให้การแสดงเจตนานั้นมีผลเมื่อผู้แสดงเจตนาตายลง หรือง่ายๆ คือ แสดงเจตนาไว้ก่อนตายว่าถ้าตายไป เรื่องทรัพย์สินหรือการต่างๆ ที่เป็นของตนเอง จะเอายังไงต่อหรือจะมอบให้ใคร เป็นต้นครับ

พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คืออะไร?

                พินัยกรรมตามกฎหมายมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ เช่น พินัยกรรมแบบธรรมดาที่มีพยาน พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง หรือพินัยกรรมแบบเอกสารลับ เป็นต้น โดยแบบของพินัยกรรมที่เราจะเล่าให้ทุกคนฟังในวันนี้คือ “พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ”
               พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คือ พินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนข้อความในพินัยกรรมด้วยลายมือของตนเองทั้งหมดทุกฉบับ ย้ำนะครับว่าจะต้องเป็นลายมือของตนเองเท่านั้น ไม่สามารถพิมพ์หรือใช้วิธีการอื่นใดที่ไม่ใช่การเขียนได้ครับ
              โดยกฎหมายก็มีการกำหนดเรื่องพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับเอาไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 ที่กำหนดว่า พินัยกรรมนั้นจะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้กล่าวคือ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน หากมีการขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นในพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และ ลงลายมือชื่อกำกับไว้
              กฎหมายก็เขียนไว้ชัดเจนครับว่าข้อความทั้งหมดในพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ หรือง่ายๆ คือทั้งกระดาษจะต้องเป็นการเขียนด้วย “ลายมือ” ของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้นครับ ซึ่งหากต้องมีการแก้พินัยกรรมก็จะต้องแก้ด้วยลายมือของผู้ทำพินัยกรรมเช่นกันและถ้าจะแก้จุดไหน ให้เซ็นชื่อกำกับไว้เสมอ เพราะหากไม่เซ็นชื่อกำกับไว้ ข้อความที่แก้ไขนั้นก็จะไม่มีผลครับ จะต้องบังคับตามข้อความเดิมก่อนแก้ไข

ความแตกต่างระหว่างพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับกับพินัยกรรมแบบอื่น

                  1. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับทำได้ง่าย มีกระดาษก็หยิบมาเขียนเองได้เลย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น อาจจะมีการแก้โดยที่ไม่ได้เซ็นชื่อกำกับ เป็นต้น
                2. ไม่ต้องจำเป็นต้องมีพยานในการทำพินัยกรรมเหมือนกับแบบอื่นที่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คนและพยานต้องลงชื่อในพินัยกรรมนั้นด้วย แต่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนี้จะมีพยานก็ได้เช่นกัน กฎหมายไม่ได้บังคับไว้
                3. ไม่ต้องไปทำที่เขตหรืออำเภอ สามารถทำได้ที่บ้านเลย
                4. ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรมเท่านั้น จะใช้การพิมพ์ลายนิ้วมือ ประทับตรา หรือเครื่องหมายอื่นไม่ได้เลย

ข้อควรระวังในการทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ!!

                อย่างที่ผมได้บอกไปในข้างต้นแล้วว่า พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนี้จะต้องเขียนด้วยลายมือของผู้ทำพินัยกรรมทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นหากผู้ที่ทำพินัยกรรมไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ก็จะไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับได้ครับ ซึ่งที่ต้องระวังก็คือ หากพินัยกรรมนั้นเป็นแบบเขียนเองทั้งฉบับแล้วมีการคัดค้านและพิสูจน์ได้ว่าผู้ทำพินัยกรรมเขียนหนังสือไม่เป็น แบบนี้ก็อาจมีปัญหาเรื่องการทำพินัยกรรมปลอมได้ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายอาญานะครับ
                เพราะฉะนั้น ใครกำลังถูกไหว้วานให้เขียนพินัยกรรมให้ ผมแนะนำว่า ให้แนะนำคนที่ไหว้วานเราไปว่าให้ทำเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาที่มีพยานดีกว่า อย่างน้อยก็เป็นการป้องกันตัวเองในระดับหนึ่งได้ครับ

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีมรดก คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีมรดกหรือ จ้างทนายคดีมรดก คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเท่านั้นหรือไม่

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเ

อ่านเพิ่มเติม »