ลูกจ้างรายวัน No Work No Pay จริงหรือไม่ ตอนที่ 2

จากบทความที่แล้ว (ลูกจ้างรายวันตอนที่ 1) ทุกท่านคงได้ทราบแล้วว่าแท้ที่จริงแล้วในกฎหมายแรงงานของไทยเรามิได้มีการแยกสิทธิของลูกจ้างรายเดือนกับลูกจ้างรายวันออกจากกันแต่อย่างใด สิ่งที่ต่างกันคงเป็นเพียงเรื่องของวิธีการคำนวณค่าจ้างในแต่ละประเภทเท่านั้น ส่วนในบทความนี้ผู้เขียนจะได้พูดถึงสิทธิของลูกจ้างรายวันที่มักเกิดข้อพิพาทขึ้นจริงในสังคมว่าการปฏิบัติของนายจ้างส่วนใหญ่นั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

วันหยุดลูกจ้างรายวัน

ในกฎหมายแรงงานนั้นแบ่งวันหยุดออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.วันหยุดประจำสัปดาห์ 2.วันหยุดตามประเพณี และ 3.วันหยุดพักผ่อนประจำปี

ซึ่งทั้งลูกจ้างรายเดือนและลูกจ้างรายวันนั้นจะต้องมีสิทธิได้รับวันหยุดทั้ง 3 ประเภทตามกฎหมาย นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 1 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องห่างกันไม่เกิน 6 วัน (เว้นแต่งานบางประเภทที่ลูกจ้างจำต้องทำติดกันมิฉะนั้นจะเสียหายแก่นายจ้างได้ เช่น งานโรงแรม งานขนส่ง งานเหล่านี้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันเลื่อนไปหยุดวันใดแทนก็ได้) ส่วนวันหยุดตามประเพณีนั้นนายจ้างต้องประกาศล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน (รวมวันแรงงาน) และนายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วัน เมือลูกจ้างได้ทำงานติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 1 ปี

ลูกจ้างรายวันมีสิทธิได้รับวันหยุด

โดยสรุปก็คือ แม้จะเป็นลูกจ้างรายวันก็มีสิทธิได้รับ
1. วันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน
2. วันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน (นายจ้างเป็นผู้กำหนด)
3. วันหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อทำงานมาติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปี ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วัน
ซึ่งตามมาตรา 56 ยังได้กำหนดอีกว่าให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว (เว้นแต่วันหยุดประจำสัปดาห์ที่ลูกจ้างรายวันไม่มีสิทธิได้รับ) ดังนั้น นอกจากนายจ้างต้องจัดให้มีวันหยุดทั้ง 3 ประเภทข้างต้นให้แก่ลูกจ้างรายวันแล้ว นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีหรือวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง แม้ลูกจ้างจะไม่ได้มาทำงานอีกด้วย (ก็เป็นวันหยุดอะเนอะ จะมาได้ไง)

ในเรื่องนี้จึงตอบได้ว่า หลักการ No Work No Pay ไม่สามารถใช้ได้กับลูกจ้างรายวันในเรื่องของวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปี…คอนเฟิร์ม!!

วันลาของลูกจ้างรายวัน

นอกจากลูกจ้างจะมีสิทธิในวันหยุดตามที่กำหมายกำหนดแล้ว ลูกจ้างยังมีสิทธิลาในวันทำงานเมื่อมีเหตุอันจำเป็นได้อีกด้วย ซึ่งวันลาตามกฎหมายแรงงานที่สำคัญประกอบด้วย
1. ลาป่วย
2. ลากิจ
3. ลาคลอด
4. ลารับราชการทหาร

โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาทั้ง 4 ประเภท ดังนี้
1. ลาป่วย นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน
2. ลากิจ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 3 วัน
3. ลาคลอด นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน
4. ลารับราชการทหาร นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 60 วัน
ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเฉพาะลูกจ้างรายเดือนที่มีสิทธิลาและมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลา ดังนั้น หลักการ No Work No Pay ไม่สามารถใช้ได้กับลูกจ้างรายวันในเรื่องของวันลา…คอนเฟิร์ม!!

“โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าลูกจ้างรายวันก็มีสิทธิไม่ต่างจากลูกจ้างรายเดือนในเรื่องของวันหยุด และ วันลา และมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด (ยกเว้นวันหยุดประจำสัปดาห์) และวันลาตามที่กฎหมายกำหนด หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามอาจมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ได้”

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด