ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร
ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร ถ้าศาลพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหนี้ไม่
ปัญหาโลกแตกของคนไม่โสด ถ้าคู่สมรสของเราไม่ว่าจะสามีหรือภริยาเสียชีวิตไปทรัพย์สินจะต้องแบ่งอย่างไร ใครมีสิทธิในทรัพย์สินใดกี่ส่วน พ่อแม่พี่น้องของสามี/ภริยาที่เสียชีวิตจะมีสิทธิแบ่งมรดกด้วยไหม สารพันคำถามเมื่อตอนดูซีรีเกาหลีแต่ไม่เคยมีคำตอบ วันนี้เราจะตอบทุกข้อสงสัย!!
ขั้นตอนที่หนึ่ง พิจารณาว่าคู่สมรสที่เสียชีวิตมีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง และ
ขั้นตอนที่สอง พิจารณาว่าทายาทใดบ้างที่มีสิทธิได้รับมรดก
1. พิจารณาว่าคู่สมรสที่เสียชีวิตมีสินส่วนตัวเท่าไร
2. พิจารณาว่าคู่สมรสที่เสียชีวิตมีสินสมรสเท่าไรแล้วหารครึ่ง
3. นำข้อ 1+2 จะได้เป็นทรัพย์มรดกที่แท้จริงของคู่สมรสที่เสียชีวิต
ตัวอย่าง A สมรสกับ B โดยก่อนสมรส A มีทรัพย์สินส่วนตัว 3 ล้านบาท ภายหลังสมรส A และ B มีเงินที่ร่วมกันทำมาหาได้ระหว่างสมรสอีก 10 ล้านบาท หาก A ตาย ทรัพย์ที่จะถือเป็นทรัพย์มรดกจะมีดังนี้
1. ทรัพย์สินส่วนตัว 3 ล้านบาทก่อนสมรส
2. สินสมรสที่นำมาแบ่งครึ่ง 5 ล้านบาท (10 ล้านบาทหารสอง)
3. ดังนั้น A จะมีทรัพย์มรดกทั้งสิ้น 3 ล้านบาท + 5 ล้านบาท = 8 ล้านบาท (ข้อ 1+ ข้อ 2)
** อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นกรณีทั่วไปที่ไม่ได้มีความซับซ้อนเท่านั้น ในบางกรณีที่มีความซับซ้อนโปรดสอบถามทนายของท่านเพิ่มเติม เช่นมีการทำสัญญาก่อนสมรส **
1. พิจารณาว่ามีการทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ใครหรือไม่
หากเจ้ามรดก (คู่สมรสที่เสียชีวิต) มีการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้รับพินัยกรรมคนใดไว้ ก็ต้องเป็นไปตามพินัยกรรมนั้น ถ้ายกทรัพย์มรดกเพียงบางส่วนให้ ส่วนที่เหลือก็ตกแก่ทายาทโดยธรรมในขั้นตอนถัดไป แต่ถ้ายกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้รับพินัยกรรม ทายาทโดยธรรมก็จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกอีกเลย (ไม่ต้องพิจารณาขั้นถัดไปแล้ว…ไม่เหลืออะไรแล้ววว)
ตัวอย่าง
1.1 จากตัวอย่างแรก หาก A ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ C จำนวน 3 ล้านบาท เช่นนี้ C จะได้ไปแน่นอน 3 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 5 ล้านบาทก็จะไปแบ่งให้ทายาทโดยธรรมตามขั้นตอนถัดไป
1.2 กรณีกลับกัน หาก A ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ C จำนวน 8 ล้านบาท เช่นนี้ C จะได้ไป 8 ล้านบาท ส่วนทายาทโดยธรรมจะไม่ได้รับมรดกใดเลย เพราะทรัพย์มรดกถูกแบ่งตามพินัยกรรมจนสิ้นแล้ว
2. พิจารณาลำดับของทายาทโดยธรรม
โดยปรกติทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ คือ
2.1 ผู้สืบสันดาน
2.2 บิดามารดา
2.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
2.4 พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
2.5 ปู่ ย่า ตา ยาย
2.6 ลุง ป้า น้า อา
ซึ่งโดยปรกติแล้วเราจะใช้หลักญาติสนิทตัดญาติห่าง คือ หากมีทายาทลำดับบนเหลืออยู่ ทายาทในลำดับล่างจะไม่ได้รับมรดก เพราะถือเอาตามความสัมพันธ์ทางสายโลหิตที่ใกล้ชิดกับเจ้ามรดกมากที่สุด (ยกเว้นลำดับ 2.1 และ ลำดับ 2.2 สามารถรับมรดกร่วมกันได้โดยไม่ตัดกันตามกฎข้างต้น)
ตัวอย่าง
จากตัวอย่างที่ 1.1 หาก A มีลูก 1 คนและมีพี่น้อง 2 คน เช่นนี้ ทรัพย์มรดกที่เหลือจำนวน 5 ล้านบาทจะถูกแบ่งให้แก่ลูกของ A เท่านั้น เพราะถือเป็นทายาทลำดับชั้นบนสุด เมื่อมีทายาทลำดับชั้นบนสุดอยู่ ทายาทลำดับล่างย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดก
แต่หาก A มีลูก 1 คน และมีบิดาที่ยังมีชีวิตอยู่อีก 1 คน เช่นนี้ ทรัพย์มรดกนั้นจะตกแก่ลูกและบิดาของ A คนละครึ่ง เนื่องจากทายาทลำดับ 2.1 จะไม่ตัดลำดับ 2.2 ออก เพราะถือว่ามีความใกล้ชิดกับเจ้ามรดกพอกันทั้งสองลำดับ
เมื่อถึงจุดนี้ ผู้อ่านบางท่านเริ่มสงสัย เริ่มกระวนกระวาย อ้าววว แล้วคู่สมรสหายไปจากผังลำดับทายาทโดยธรรมได้ยังไง แล้วจะยังได้รับมรดกไหม!!?
คำตอบคือ ยังได้รับมรดกอยู่!! โดยคู่สมรสนี้ถือเป็นทายาทในลำดับชั้นพิเศษ (ไหน ๆ ก็เป็นโซลเมทกันมานาน กฎหมายเลยจัดชั้นพิเศษให้เลย)
ที่ว่าพิเศษนี้พิเศษยังไง? ก็พิเศษตรงที่คู่สมรสจะไม่ถูกตัดและไม่ตัดทายาทโดยธรรมลำดับใดออกเลยนั่นเอง แปลว่าเข้าไปขอแบ่งส่วนกับทายาทได้ทุกลำดับนั่นเอง!! โดยมีวิธีคิดส่วนแบ่งของคู่สมรสดังนี้
เคสที่ 1 คู่สมรส vs บุตร (ทายาทลำดับที่ 1)
กรณีนี้คู่สมรสได้ส่วนแบ่งเสมือนเป็นบุตรคนหนึ่งนั่นเอง เช่น เจ้ามรดกมีลูก 2 คนและคู่สมรส มรดกก็จะถูกแบ่งกันคนละ 1/3 (เสมือนมีบุตร 3 คน)
เคสที่ 2 คู่สมรส vs บุตร + บิดามารดา (ทายาทลำดับที่ 1 และ 2)
กรณีนี้จะเหมือนเคสที่ 1 คือ ทั้งคู่สมรสและบิดามารดาจะถูกถือเสมือนเป็นบุตรคนหนึ่ง เช่น เจ้ามรดกมีลูก 2 คน คู่สมรส บิดา และมารดา มรดกจะถูกแบ่งกันคนละ 1/5 (ลูก 2 + บิดา + มารดา + คู่สมรส)
เคสที่ 3 คู่สมรส vs บิดามารดา (ทายาทลำดับที่ 2)
กรณีนี้คู่สมรสจะได้ไปครึ่งหนึ่งเสมอ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งบิดาและมารดานำไปแบ่งกันเอง เช่น เจ้ามรดกมีบิดา มารดา และคู่สมรส มรดกจะถูกแบ่งให้คู่สมรส 1/2 ให้บิดา 1/4 และมารดา 1/4
เคสที่ 4 คู่สมรส vs พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (ทายาทลำดับที่ 3)
กรณีนี้จะเหมือนเคสที่ 3 คือ คู่สมรสได้ไปครึ่งหนึ่งเสมอ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนำไปแบ่งกันคนละส่วนตามจำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาที่เหลืออยู่
เคสที่ 5 คู่สมรส vs พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน (ทายาทลำดับ 4)
กรณีนี้คู่สมรสจะได้ไปสองในสามส่วนเสมอ ส่วนอีกหนึ่งในสามนำไปแบ่งคนละส่วนตามจำนวนพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
เคสที่ 6 คู่สมรส vs ปู่ ย่า ตา ยาย (ทายาทลำดับที่ 5)
กรณีนี้คู่สมรสจะได้ไปสองในสามส่วนเสมอ ส่วนอีกหนึ่งในสามนำไปแบ่งคนละส่วนตามจำนวนปู่ ย่า ตา ยาย ที่ยังเหลืออยู่
เคสที่ 7 คู่สมรส vs ลุง ป้า น้า อา (ทายาทลำดับที่ 6)
กรณีนี้คู่สมรสจะได้ไปสองในสามส่วนเสมอ ส่วนอีกหนึ่งในสามนำไปแบ่งคนละส่วนตามจำนวนลุง ป้า น้า อา ที่ยังเหลืออยู่
ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร ถ้าศาลพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหนี้ไม่
บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเ
รวมวิธีการป้องกัน ที่ดินถูกครอบครองปรปักษ์ เป็นเจ้าของที่ดินอยู่ดีๆ ผ่านไป 10 ปี
แบ่งมรดกไม่ลงตัว ทำอย่างไร #ทายาทต้องรู้แบ่งมรดกไม่ลงตัว ต้องทำอย่างไร แบ่งมรดกไ