การทวงถามหนี้

การทวงถามหนี้

การทวงถามหนี้

ในช่วงที่ผ่านมาเราคงจะเห็นข่าวการทวงหนี้โหดกันอยู่บ้าง แต่หลายคนก็ยังสงสัยกันอยู่ว่าต้องทวงหนี้แบบไหนถึงจะถูกกฎหมาย เจ้าหนี้ก็พากันไม่กล้าไปทวงลูกหนี้เพราะกลัวลูกหนี้จะแจ้งตำรวจ วันนี้ผมเลยจะมาเล่าให้เจ้าหนี้ทั้งหลายฟังว่าการทวงหนี้แบบไหนถูกกฎหมายและแบบไหนผิดกฎหมาย ไปดูกันเลยครับ

ในเรื่องนี้เราจะต้องไปดูกันที่พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 โดยเรามาทำความรู้จักกับ “ผู้ทวงถามหนี้” กันก่อนครับ ผู้ทวงถามหนี้ก็คือเจ้าหนี้ในหนี้นั้นๆ และรวมถึงผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้หรือผู้ที่ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ครับ

โดยหลักในการทวงถามหนี้ กฎหมายกำหนดให้ผู้ทวงถามหนี้ต้องติดต่อกับตัวลูกหนี้โดยตรง แต่อาจมีบางกรณีที่จะติดต่อกับบุคคลอื่นที่ลูกหนี้กำหนดไว้เพื่อการทวงถามหนี้ก็ได้ครับ อย่างไรก็ดีกฎหมายก็ได้กำหนดให้สามารถติดต่อกับบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้หรือคนที่ลูกหนี้กำหนดไว้ได้ โดยสามารถติดต่อได้แค่ในเรื่องที่เกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือคนที่ลูกหนี้กำหนดเอาไว้ จะไปพูดเรื่องการทวงหนี้ออกไปไม่ได้ จะถามได้แค่ว่า ลูกหนี้อยู่ที่ไหน เท่านั้น

ในการติดต่อบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ ผู้ทวงหนี้จะต้องปฏิบัติดังนี้

1.แจ้งชื่อให้ทราบและแจ้งถึงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือคนที่ลูกหนี้กำหนดไว้

2.ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลนั้นจะเป็นสามี ภริยา บุพกาลี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลเหล่านี้จะต้องสอบถามผู้ทวงถามหนี้ด้วยถึงสาเหตุของการติดต่อ กรณีนี้ผู้ทวงถามหนี้สามารถบอกเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและสมควร

3.ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนสื่อที่ใช้ในการทวงถามหนี้ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้

4.ห้ามติดต่อหรือแสดงตนในลักษณะที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ตนได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือคนที่ลูกหนี้กำหนดไว้

.

 ต่อมาเรามาดูการปฏิบัติในการทวงถามหนี้กันครับว่าจะต้องปฏิบัติในเรื่องต่างๆ อย่างไร

1 เรื่องสถานที่ติดต่อลูกหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อลูกหนี้ตามสถานที่ที่ลูกหนี้ได้แจ้งไว้ให้เป็นสถานที่ติดต่อ แต่ถ้าไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ก็ให้ติดต่อที่ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำการงาน หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดครับ

2 เรื่องเวลาในการติดต่อ กฎหมายกำหนดดังนี้

              วันจันทร์-ศุกร์ : ตั้งแต่ 8.00 – 20.00 น.

              วันหยุดราชการ : ตั้งแต่ 8.00 – 18.00 น.

3 เรื่องจำนวนครั้งในการติดต่อ

    สามารถทวงหนี้ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง

4 กรณีผู้ทวงถามหนี้เป็นผู้รับอบอำนาจจากเจ้าหนี้หรือผู้ประกอบธุรกิจการทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งถึงชื่อของตนหรือชื่อหน่วยงาน ชื่อเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ หากผู้รับมอบอำนาจทวงถามหนี้ต่อหน้าก็ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจนั้นด้วย

.

กฎหมายก็มีการกำหนดห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการบางอย่างในการทวงหนี้เอาไว้เหมือนกัน จะมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยครับ 

1 ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรก็ตามที่ทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้

2 ใช้คำพูดหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้

3 แจ้งหรือเปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงหนี้ ยกเว้นสามี ภริยา บุพกาลี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ที่อาจบอกเกี่ยวกับหนี้ตามสมควรได้

4 ติดต่อลูกหนี้ทางไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อว่า เป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจํานองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ 

5 ใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในการติดต่อลูกหนี้ที่ทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ ไม่ได้สื่อว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และไม่รวมถึงกรณีที่เจ้าหนี้ส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามก่อนเพื่อที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล

6 การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด

และห้ามเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงด้วยครับ กรณีนี้ก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่ามันทำไม่ได้ เช่น ใช้ข้อความ ตรา หรือสัญลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาลหรือหน่วยงานรัฐ หรือทำให้เข้าใจว่าการทวงหนี้นั้นทำโดยสำนักงานกฎหมาย เป็นต้นครับ

.

หากลูกหนี้ได้รับการทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ลูกหนี้ก็สามารถไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ และผู้ทวงถามหนี้ที่กระทำความผิดนั้นก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1-5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามกฎหมายครับ 

และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎหมายที่เกี่ยวกับการทวงหนี้เท่านั้น หากทุกคนอยากศึกษาให้ละเอียดมากกว่านี้ก็สามารถไปอ่านได้ที่ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 และประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้เพิ่มเติมได้เลยครับ 

          สำหรับใครที่เป็นเจ้าหนี้ ไม่ต้องไปทวงหนี้เองให้เสี่ยงเพราะสำนักงานของเรามีบริการจัดทำและส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้แก่ลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้ครับ หากใครสนใจ inbox ไลน์ของเราเข้ามาได้เลยครับ

 

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเท่านั้นหรือไม่

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเ

อ่านเพิ่มเติม »